สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ทำหน้าที่ จุดประกาย กระตุ้น สนับสนุน ประสานความร่วมมือ เพื่อให้คนไทยริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการสร้างเสริมสุขภาพโดยไม่จำกัดกรอบวิธีการ และยินดีเปิดรับแนวทาง ปฏิบัติการใหม่ๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปสู่การขยายค่านิยมและการสร้างพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวางนับเป็นองค์กรด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับมติของสมัชชาสุขภาพโลก ด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) "Association for the Development of Environmental Quality" หรือเรียกโดยย่อว่า "ADEQ" จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร และจัดกิจกรรมเสริมสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่สมาชิก ผู้สนใจ ธุรกิจเอกชน หน่วยงานราชการ และสถาบันต่างๆ ในปี 2543 สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามความมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535 และได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดตั้งและพัฒนา ศูนย์รวมตะวัน ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้แบบสร้างเสริมประสบการณ์ของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกระดับอายุ และมีสาระของการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความเข้าใจในความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างการผลิตและบริโภคกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทราบถึงแนวทางในการกินการอยู่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป
ด้วยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ. 2551-2553 สมาคมฯ ยังได้จัดทำแผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาให้สถานประกอบการจำนวน 122 แห่ง กลายเป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ที่สามารถคุ้มครองสุขภาพของพนักงานจากควันบุหรี่ และทำให้พนักงานส่วนหนึ่งสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และในปี 2553 ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินแผนงานต่อเป็นระยะที่ 2 แผนงานพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ โดยในแผนงานนี้ จะจัดให้มีการบูรณาการการดำเนินงานของสถานประกอบการ ให้สามารถครอบคลุมประเด็นด้านการส่งเสริมสุขภาพประเด็นอื่นๆ อาทิ ประเด็นด้านการดื่มสุรา การพนัน และการเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ พร้มกันไปด้วย ทั้งนี้ยังคงเน้นกระบวนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานอย่างเป็นระบบเช่นเดิม