ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย

Last updated: 29 มิ.ย. 2563  |  1288 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย

     1 กรกฎาคมนี้ เป็นวันเปิดภาคเรียน หลังจากเลื่อนการเปิดการเรียนการสอนมาจากเดือนพฤษภาคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถึงแม้ว่าไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาหลายวันแล้ว ยกเว้นจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพำนักที่สถานกักกัน แต่ก็ยังคงสร้างความวิตกกังวลไม่น้อยเมื่อนักเรียนต้องไปโรงเรียน

     เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “New Normal for Thai Children ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย” ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา (Active Play Active School) พร้อมเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะบนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย” เพื่อระดมสมองเปิดมุมมอง ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย

     นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาวะบนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทยว่า ขณะนี้ต้องผสมผสานระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขกับคุณภาพการศึกษา ในช่วงนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการต่างๆ ไว้ เช่นมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์และออนแอร์ โดยออนแอร์เรียนผ่านโทรทัศน์ 17 ช่องตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ม.6

     “ตอนนี้โรงเรียนขนาดเล็กไม่เกิน 120 คน เปิดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเราก็เตรียมการไว้พร้อมทั้งเรื่องของการวัดไข้ การล้างมือ เจลแอลกอฮอล์และหน้ากาก ส่วนในแง่ของโรงเรียนขนาดใหญ่ ต้องเว้นระยะห่างในห้องเรียน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนพร้อมกัน จึงต้องสลับกันมาเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโมเดลขึ้นมาหลายรูปแบบให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละโรงเรียน  เช่น มีเรียนจันทร์ พุธ ศุกร์ กับ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ หรือเรียน 5 วัน หยุด 9 วัน เป็นต้น แต่เด็กที่หยุดต้องได้เรียนออนไลน์ไปพร้อมๆ กับเพื่อนที่เรียนอยู่” นายวราวิช กล่าว

     ในแง่ของการสร้างเสริมสุขภาวะในเด็กไทยบนชีวิตวิถีใหม่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.

     กล่าวว่า  สภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติร่วมกับทางยูนิเซฟและ UNDP สำรวจเด็กวัยมัธยม พบว่า เด็กได้รับผลกระทบไม่ต่างจากผู้ใหญ่นัก พวกเขามีเวลาว่างเพิ่มขึ้นถึง 5 ชม. ต่อวันจากเวลาว่างปกติที่เคยมี และใช้เวลาว่างนั้นไปกับสังคมออนไลน์ พวกเขามีความต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษ เสริมการเรียนพื้นฐาน และวิชาเลือกที่เสริมความสนใจ เช่น ศิลปะ การกีฬา  ในแง่ของสุขภาพ กิจกรรมทางกายสัมพันธ์กับการมีสุขภาพที่ดี โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีเด็กร้อยละ 11.6  มีกิจกรรมทางกายมากขึ้นกว่าในช่วงปกติ แต่ในขณะเดียวกันร้อยละ 61.6 มีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะกิจกรรมทางกายมีความสำคัญต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็ก

     “จากผลกระทบของโควิด ทำให้หลายอย่างถูกบังคับให้เปลี่ยน สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สพฐ. ทำคู่มือ การจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนั้น สามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งถึงความปลอดภัย ในส่วนของการเสริมทักษะ เราเน้นเล่น เรียน รู้ เพราะการเรียนไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียนทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้” ดร.สุปรีดา กล่าว

     เยาวชนคืออนาคตของประเทศ และการศึกษาคืออนาคตของเยาวชน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคระบาด กล่าวถึง การดูแลสุขภาวะของเด็กไทยเพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพบนชีวิตวิถีใหม่ว่า เปิดเรียนแน่นอนว่ามีโรคบางอย่างที่เพิ่มขึ้นและบางอย่างจะลดลง ทั้งไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก อาหารเป็นพิษ ไข้เลือดออก การบาดเจ็บบนท้องถนน วงจรสิ่งเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์ และการพนัน แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะมาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้เพื่อป้องกันโควิด-19 จะช่วยตัดวงจรโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไปด้วย

     นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า เด็กต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่  ถ้ามีวัคซีนป้องกันให้ฉีดวัคซีนเพื่อภูมิคุ้มกันที่ดี ล้างมือบ่อยๆ การล้างมือจะช่วยป้องกันตัวเอง และออกกำลังกายเพื่อทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้น สวมหน้ากาก สร้างระยะห่างทางกายภาพ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่ชีวิตวิถีใหม่นั้นไม่ได้ปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ทั่วไปด้วย โดย

1. ความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพต้องมาอันดับหนึ่ง โดยต้องสวมทั้งหน้ากากและหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันชีวิต

2. ประหยัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ การพนัน ไม่เน้นใหญ่โต หรูหราและฟุ่มเฟือย ประหยัดทรัพยากร เวลา รักษาธรรมชาติ

3. ไม่เอาเปรียบ ไม่โกง ยุติธรรม

4. เปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม

     นอกจากมาตรการที่ป้องกันโควิด-19 แล้ว การสร้างเสริมสุขภาพของเด็กก็สำคัญไม่แพ้กัน โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่มีการระบาดของโควิด คือ การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กลดลง WHO แนะนำว่าเด็กควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที แต่เด็กไปใช้ชีวิตอยู่ที่หน้าจอ ทำให้เกิดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การไม่เคลื่อนไหวทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิต้านทานก็ลดลงและในระยะยาวทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เราจึงต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่น

     “การจัดการโควิดช่วงนี้ต้องย้ำในเรื่องของสุขอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากาก และสุขลักษณะในการกิน การนอน การเล่น การมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ควรปฏิบัติ สถานการณ์โควิดถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่เราจะใช้สถานการณ์นี้เป็นบทเรียนสอนลูกในแง่มุมต่างๆ เพื่อเตรียมให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน เรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหา และพร้อมที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

     ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างว่าเมื่อโควิด-19 ระบาด ทำให้มีการระวังตัวกันมากขึ้น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ พลอยทำให้โรคอื่นๆ มีผู้ป่วยลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม สสส. ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กทุกช่วงวัย พยายามรณรงค์ ทำข้อมูลวิชาการ เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อให้เด็กไทยและทุกคนในประเทศไทยมีสุขภาวะที่ดี

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือ การจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19

ได้ที่...https://bit.ly/3fKKOC7

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจากการเสวนา ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้