Last updated: 7 ก.ค. 2565 | 2641 จำนวนผู้เข้าชม |
กระแสของการปลดล๊อคกัญชาเสรีจากการสงวนไว้ใช้เพียงทางการแพทย์ มาเป็นใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆที่มีขอบเขตกว้างขึ้นนับได้ว่ามีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางตรงคือส่งผลต่อสุขภาพโดยตรงโดยเฉพาะกับเด็กๆหรือผู้ใหญ่ที่ใช้ในปริมาณมากเกินไป ส่วนผลกระทบทางอ้อมคืออาการข้างเคียงจากการเสพ เช่น การคลุ้มคลั่งไล่ทำร้ายผู้อื่นหากมีการใช้ประโยชน์เกินขนาด และจากการศึกษาพบว่าแนวโน้มผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะหันมาสนใจใช้สารสกัดจากกัญชามาทดแทนน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเป็นอัตราที่สูงขึ้นถึง 18 เท่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลรายงานการวิจัยที่น่าตกใจเกี่ยวกับเรื่องการนำสารสกัดกัญชามาใช้ร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการใช้สองอย่างนี้ร่วมกันจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายที่รุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต
จากงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับกัญชามีอันตรายมากถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือ E-cigarette, or vaping, product use-associated lung injury (EVALI) ที่เคยระบาดในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน เมื่อปี 2562-2563 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,807 ราย และมีผู้เสียชีวิต 68 ราย ซึ่งจากข้อมูลของผู้ป่วยเหล่านี้พบว่า 82% มาจากใช้สารสกัดกัญชา หรือ Tetrahydrocannabinol (THC) ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของสมอง
ลำพังการใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายจากพวกสารนิโคตินที่เข้มข้นกว่าบุหรี่มวนอยู่แล้ว และบุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบไปด้วยสารเคมีอันตรายหลากหลายชนิดที่มีส่วนทำลายสมอง รวมทั้งสารก่อมะเร็งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีการนำเอาสารสกัดกัญชามาใช้ร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งเหมือนกับเป็นตัวเร่งทำลายสุขภาพให้รุ่นแรงมากขึ้น ฉะนั้นการควบคุมการใช้สารสกัดกัญชาให้อยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัยนับเป็นเรื่องสำคัญต่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและความปลอดภัยทางสังคม
-------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
25 เม.ย 2566
28 เม.ย 2566
11 เม.ย 2566