เก็บตกจากงานมหกรรมเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่

Last updated: 16 มิ.ย. 2561  |  3472 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เก็บตกจากงานมหกรรมเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่

สังคมไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่

     หลังจากที่สถานประกอบการปลอดบุหรี่ทั้ง 122 แห่ง ภายใต้แผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่: จุดเปลี่ยนเพื่อสร้าง
เสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ จาก ศ.นพ.เกษม วัฒนาชัย
องคมนตรี ภายในงานมหกรรมเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากจะมีการประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการปลอดบุหรี่แล้ว  ยังมีการเปิดเวทีเสวนา 3 เรื่อง คือ
 
    เวทีเสวนา “สังคมไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่” โดยวิทยากร 3 ท่าน คือ นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อาจารย์ประจำคณะสาธารสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา ที่ปรึกษาแผนงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่และแผนงานโรงแรมสร้างเสริมสุขภาพ 

    เวทีเสวนา “สถานประกอบการไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่” โดยมีตัวแทนจากสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้านการดำเนินงานการควบคุมการสูบบุหรี่ในหน่วยงานตนเอง มาพูดคุยและเล่าถึงประสบการณ์การทำงาน ซึ่งมีดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัมนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่เป็นผู้ดำเนินรายการ

    เวทีการบรรยายและตอบข้อซักถาม “เขตปลอดบุหรี่ในสถานที่ทำงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับบที่ 19”
 โดย น.พ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค เป็นผู้บรรยายและตอบคำถามใน Session นี้ ฉบับนี้ ขอนำเสนอสาระจากการเสวนา “สังคมไทย...ทำอย่างไรให้ปลอดบุหรี่” ให้ชาวแวดวงสุขภาพได้อ่านกันก่อนว่า แนวทางการส่งเสริมให้สังคมไทยไปสู่สังคมปลอดบุหรี่นั้น จะทำได้ย่างได้บ้าง และในฐานะสถานประกอบการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ควรมีการเดินหน้ากันอย่างไร

ดร.จิรพล: สังคมไทยจะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่

นายแพทย์ประพนธ์: ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศไทย ในเรื่องของบุหรี่อยู่ในระดับที่ใช้ได้แล้ว ตัวเลขของผู้สูบในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านคน ประมาณ 21% ซึ่งเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ เช่นเทียบกับกวางเจา ประเทศจีน เราก็ยังถือว่ามีตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ที่น้อยกว่า แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และบุหรี่ก็ยังเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมายอีกด้วย หลายภาคส่วนจึงมีความต้องการที่จะให้บุหรี่ลดลงเรื่อย ๆ และหมดไปจากสังคมไทยในที่สุด ซึ่งมุ่งหวังเป้าหมายดังต่อไปนี้

   1. ลดตัวเลขการบริโภคของประเทศ จาก 21% ให้เหลือ 17% ภายในปี 2557
   2. ลดตัวเลขการบริโภคต่อคนต่อวัน
   3. การทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์น้อยที่สุด

   บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขคือ ป้องกันดูแลสุขภาพ ในขณะที่บทบาทของกรมควบคุมโรคคือ ต้องควบคุมโรคและปัจจัยแห่งโรค และสร้างความตระหนักของประชาชนในประเทศในเรื่องของการเลิกบุหรี่ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานอื่น ๆ ในทุกภาคส่วนทั้ง นานาชาติ ประเทศ สังคม เช่น
   • ในระดับนานาชาติ องค์กรอนามัยโลก มีข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกที่ควบคุมยาสูบ มีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาข้อตกลงร่วมของโลกในการควบคุมยาสูบ
   • สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคมีฐานะเป็นเลขาของคณะกรรมการ ได้จัดทำนโยบายในการควบคุมยาสูบ และออกพรบ.ที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2535 พรบ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ปี 2535 กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาจะต้องมีกฎหมายลูกและการบังคับใช้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผู้ไม่สูบบุหรี่ มีการปกป้องผู้ไม่สูบจากผู้สูบบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีการณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและทำความเข้าใจกฎหมายฉบับใหม่มากขึ้น เพราะการดำเนินตามกฎหมายนั้นจะต้องมีการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกร่วมด้วย

ดร.ลักขณา: แนวนโยบายที่จะช่วยสังคมไทยให้ปลอดบุหรี่ มี 5 ข้อ และเป็นแนวทางที่ทั่วโลกใช้กัน ดังนี้

   1. ป้องกันไม่ให้มีการริเริ่มสูบบุหรี่ (นักสูบหน้าใหม่) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติพบว่าผู้สูบช่วงอายุ 19 – 20 ปี เป็นกลุ่มเดียวที่มีอัตราการสูบเพิ่มสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ การสร้างสังคมการสูบบุหรี่ในเพื่อนพนักงานที่เกิดจากความเครียดจากการทำงาน ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้หันมาสูบบุหรี่มากขึ้น
   2. ป้องกันควันบุหรี่มือสอง โดยการจัดสถานที่สูบบุหรี่ให้กับผู้สูบในสถานประกอบการก็จะทำให้สังคมการสูบบุหรี่เล็กลงส่งผลให้ผู้สูบลดลงด้วย
   3. ต้องช่วยเหลือคนที่สูบให้เลิกสูบ การใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น นิโคตินอดบุหรี่ เพื่อให้ผู้สูบลดการสูบได้ช่วยเหลือด้านพฤติกรรม เช่น คลีนิกอดบุหรี่ Quit line เลิกบุหรี่
   4. ทำอย่างไรให้บุหรี่อันตรายน้อยที่สุด ปัจจุบันมีการผลิตบุหรี่ที่มีการจูงใจกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มสตรี หรือกลุ่มผู้บริโภคบางประเภทให้หันมาสนใจและสร้างความใจที่ผิด ๆ ว่าบุหรี่เหล่านั้นอันตรายน้อยลง และหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น เช่น บุหรี่บางชนิดมีการเติมรสหรือกลิ่นสมุนไพรเพื่อจูงใจในการสูบมากขึ้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่สถานประกอบต้องมีความรู้ความเข้าใจวิธีการชักจูงเหล่านี้ เพื่อจะได้รู้ทันและช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ในสถานประกอบการได้
   5. ป้องกันการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบ จะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้บริษัทยาสูบเข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐ จากเดิมภาพลักษณ์ของบริษัทผลิตบุหรี่จะมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นพระเอก แล้วประชาชนที่ได้รับควันบุหรี่จะแสดงปฏิกิริยาไม่ชอบไม่ได้ จะถูกสังคมประณาม แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ของบริษัทดังกล่างเปลี่ยนไป บริษัทเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ดังนั้น จึงมีการทำ CSR เพื่อกู้ภาพลักษณ์ของบริษัทของตนเอง โดยให้งบประมาณสนับสนุนแก่สถานประกอบการไปทำเรื่องของยาสูบ

ดร.จิรพล: สรุปว่าการดำเนินการเรื่องการลดเลิกการสูบบุหรี่นั้นควรให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรภายในควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้มีความครอบคลุมและเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ขอเรียนถามว่าภาคส่วนต่างๆในสังคมจะช่วยผลักดันให้สังคมไทยให้ปลอดบุหรี่ได้อย่างไร

ดร.ลักขณา: ภาคีที่สำคัญที่จะสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่นั้นอยู่ที่ NGOs และ ภาคประชาชน ซึ่งสสส.ได้ทำโครงการให้งบ ฯ กับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายสุขภาพ เช่น เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อคนไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายแพทย์ เครือข่ายทันตแพทย์ เครือข่ายพยาบาล เภสัชอาสา เครือข่ายสาธารณสุข เป็นต้น หรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สถานประกอบการต่าง ๆ เป็นต้น

ดร.จิรพล: จะเห็นได้ว่าแต่ละภาคส่วนนั้นมีความร่วมมือที่จะทำงานด้านการลดการสูบบุหรี่ นอกจากนั้นแล้วทางภาครัฐต้องการความช่วยเหลือจากสถานประกอบการอย่างไรบ้าง

นายแพทย์ประพนธ์:  ในการดำเนินงานนั้นทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนั้นถือว่าเป็นแกนกลางโดยภาระหน้าที่อยู่แล้ว แต่ภาคส่วนอื่น ๆ ก็มีความสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนการดำเนินงานเหล่านี้ได้ ในส่วนของภาคประชาสังคมนั้นมีบทบาทสูงในการที่จะชี้แนะให้ประชาชนเกิดความตระหนักในเรื่องบุหรี่สูง เพราะสามารถเข้าถึงได้ในทุกชุมชน อีกส่วนหนึ่งคือ ภาคบริหารจัดการในท้องถิ่นเช่น อบต. เทศบาล ที่จะส่งเสริมในชุมชนให้เกิดการจัดการได้ง่าย และในภาคส่วนสถานประกอบการนั้นยังอยู่ที่ทัศนะการมอง เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่จะมองถึงผลประกอบการ พนักงาน และสังคม ซึ่งทางภาครัฐอยากให้สถานประกอบการมองว่า 2 ส่วนแรกนั้นควรจะมองไปการส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดี ก็จะสามารถเชื่อมโยงมาถึงส่วนของสังคมได้ เกิดความเกื้อกูลกัน ถ้าองค์กรสามารถปฏิบัติตามได้ก็จะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีได้ทั้งองค์กร และจะเกิดความภาคภูมิใจในการผลักดันให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ดร.จิรพล: ถามนายแพทย์ประพนธ์ว่าการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นี้มีทิศทางอย่างไร

นายแพทย์ประพนธ์: อันดับแรกต้องมีการเปิดใจ โดยภาครัฐต้องมีการสำรวจจำนวนผู้สูบ ซึ่งไม่ได้มีความประสงค์ที่จะตำหนิผู้สูบ แต่ต้องการรู้เป้าหมายที่จะลดในอนาคต ดังนั้นคนสูบต้องเปิดใจที่จะให้ข้อมูล เมื่อสำรวจแล้วก็จะต้องมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลด ละ เลิก แต่ในกระบวนการทำจะต้องมีการแบ่งโซน เพื่อคำนึงถึงคนที่ยังสูบอยู่ แต่ถ้ามีการจัดเขตสูบในที่ไกล ๆ ก็จะทำให้คนสูบมีความพยายามเดินไปจุดเขตสูบลดลง ก็จะทำให้จำนวนคนสูบลดลงเรื่อย ๆ เช่นนี้ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมาย 17% ได้ ถึงแม้ว่าจะบรรลุถึง 17% ในปี 2557 ก็ต้องมีการดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ ให้มีจำนวนผู้สูบเหลือน้อยที่สุดจนถึง 0% ได้ยิ่งดี ถ้าหากสถานประกอบการทำได้ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและธุรกิจก็จะสามารถขายโฆษณาในเรื่องนี้ได้อีกด้วย

ดร.จิรพล: จากเป้าหมายของท่านรองอธิบดีฯ ที่ อยากเห็นจำนวนผู้สูบลดลงซึ่งมีจำนวนและระยะเวลาที่ชัดเจนคือ ลดลงจาก 21% ให้เหลือ 17% ภายในปี 2557 สถานประกอบการสามารถนำเป้าหมายดังกล่าวไปใช้ได้ และเป็นการสร้างนโยบายที่ดีเพราะมีเป้าหมายชัดเจน โดยองค์กรสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้

ดร.ลักขณา: สถานประกอบการในแผนงานฯ มีการดำเนินการมาแล้ว ถือว่าได้เปรียบเพราะถึงอย่างไรก็จำเป็นจะต้องทำตามกฎหมายที่ออกมา แต่ก็ยังมีสถานประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำ และจะต้องมีการทำแผนเพื่อที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และการทำในสถานประกอบการจะต้องทำทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เชิงบวกก็คือเรื่องของการรณรงค์ตามโครงการ ส่วนเชิงลบคือการใช้กฎหมายบังคับ และสถานประกอบการที่มีการนำร่องก็จะเป็น Model ให้สถานประกอบการอื่น ๆ นำไปใช้ได้เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย

   เป็นอย่างไรบางค่ะ การนำสังคมไทยไปสู่สังคมปลอดบุหรี่นั้น จะเห็นได้ว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานประกอบการซึ่งจะมีส่วนในการผลักดันให้สังคมไทยสู่สังคมปลอดบุหรี่ได้ แต่จะมีเทคนิคและวิธีดำเนินการอย่างไรนั้นติดตามต่อในฉบับหน้ากับเวทีเสวนาอื่นๆ ในลำดับต่อไป



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้