จากกรณีมีคลิปถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยเจ้าของรถเก๋งมินิ คูเปอร์ สีเหลืองดำเจ้าของคำพูด “กราบ รถกู” ได้กระชากคอเสื้อชายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยอ้างว่า ชนแล้วหนี ก่อนที่จะชกต่อย 3 ครั้ง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างหนัก โดยสังคมออนไลน์มีการติดแฮชแท็ก #กราบรถกู และนำไปล้อเลียนจำนวนมาก
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “กรณีคดีบังคับกราบรถ มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิด แต่การที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างหลากหลาย และเป็นไปในทางสร้างความเกลียดชัง เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่า ไม่ได้มีความเข้าใจในความแตกต่างของการจัดการปัญหาการกระทำผิดที่แตกต่างกัน กรณีนี้ผิดก็ควรว่าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่การสร้างความเกลียดชัง ทั้งที่คนทำผิดเองอาจจะมีหลายเหตุผล มีความเครียดสะสม หรือเป็นนิสัย ซึ่งไม่สามารถบอกได้ แต่คน ๆ นี้ คือ คนที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ไม่ได้ต้องการคำด่าว่า คำบริภาษต่างๆ ซึ่งมีแต่จะสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มความเครียด ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องของคนกระทำความผิดนั้นสังคมโซเชียลมีเดีย อาจจะต้องวางบรรทัดฐานร่วมกันว่าจะไม่ยอมรับคนกระทำผิดอย่างไร แต่ไม่ใช่การด่าทอที่สร้างความเกลียดชัง เพราะทำให้บรรยากาศของสังคมไม่ดี"
และยังกล่าวอีกว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรงกรณีที่ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตเวช แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ความโกรธ ความไม่พอใจ ทำให้มีปัญหากระทบกระทั่งกับคนอื่นได้ง่าย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง มักอยู่ในประเภทนี้ การแก้ปัญหาจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ไม่ปล่อยให้มีความเครียดสะสม แต่ส่วนใหญ่จะเครียดโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม การสังเกตว่ามีความเครียดหรือไม่นั้น ดูได้จากอาการ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ จิตใจว้าวุ่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น ต้องรู้จักจัดการกับความเครียดของตัวเอง แต่คนไทยมักจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่ผิด เช่น ไปดูหนัง ฟังเพลง เป็นการคลายเครียดแบบผิวเผิน ทำให้ความเครียดยังคงอยู่ ขอให้คลายเครียดด้วยการออกกำลังกาย สวดมนต์ ฝึกสมาธิ ฝึกจิต ฝึกเรื่องการหายใจ
2. ผู้ที่มีการใช้ความรุนแรงจนเป็นบุคลิก เป็นนิสัย ตรงนี้จะต้องเรียนรู้และฝึกตัวเองใหม่หมดซึ่งเป็นเรื่องยากมาก โดยต้องรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ฝึกเทคนิคควบคุมความโกรธ เช่น การหยุดความคิด การนับเลข คอยเตือนตัวเอง รู้ลมหายใจ หรือบางคนใช้วิธีการเอาหนังยางรัดข้อมือตัวเองเมื่อมีอารมณ์โกรธมาก็จะดึงหนังยางแล้วปล่อยดีดที่แขนเพื่อเตือนสติตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนตรงนี้อาจจะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ อาทิ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล หรือสถาบันปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ เป็นต้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ