Last updated: 21 พ.ย. 2562 | 7188 จำนวนผู้เข้าชม |
การดำเนินชีวิตประจำวัน มีกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้นในร่างกาย ภายหลังเสร็จสิ้นแต่ละกระบวนการจะมีของเสียเกิดขึ้น ทั้งที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลวและก๊าซ ร่างกายมีวิธีในการขับถ่ายของเสียแต่ละประเภทแตกต่างกัน โดยมีการขับถ่ายของเสียที่เป็นของแข็งทางลำไส้ใหญ่ผ่านอุจจาระ การขับถ่ายของเสียที่เป็นน้ำทางไตผ่านปัสสาวะและทางผิวหนังผ่านเหงื่อ และการขับถ่ายของเสียที่เป็นก๊าซออกทางปอดผ่านลมหายใจออก แต่สำหรับคนที่สูบบุหรี่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่ายอย่างมาก ดังต่อไปนี้
บุหรี่กับลำไส้ใหญ่: การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการตายสูงขึ้นด้วย พบว่าร้อยละ 12 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้นั้นสูบบุหรี่ พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเกิดและเจริญเติบโตขึ้นของ Adenomatous polyp และการสูบบุหรี่ในระยะยาวพบว่ามีความสัมพันธ์กับ Adenomatous polyp ขนาดใหญ่
บุหรี่กับปอด: ปอดเป็นด่านแรกที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ครึ่งหนึ่งเกิดจากโรคปอด คนไทยที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่พบเป็นมะเร็งปอด หรือถุงลมโป่งพอง หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เพราะควันบุหรี่มีสารที่เป็นอันตรายต่อปอด เช่น ‘ทาร์’ จะจับอยู่ที่ปอด และรวมตัวกับฝุ่นละอองที่สูดเข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคือง อันเป็นสาเหตุของการไอ ก่อให้เกิดมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง และ ‘ไนโตรเจนไดออกไซด์’ จะไปทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม จึงเป็นสาเหตุของโรคถุงลมปอดโป่งพอง นอกจากนี้นิโคตินและสารพิษชนิดอื่นๆ ในควันบุหรี่ยังทำให้เกิดเป็นวัณโรคปอดด้วย
บุหรี่กับผิวหนัง: นิโคตินยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดของผิวหนังตีบตัน ทำให้เลือดไม่ไหล สารนิโคตินในบุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อผิว ทำให้เส้นเลือดหดตัว ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่ดี เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ริมฝีปากดำ สีผิวซีดเหลือง หน้าหมองคล้ำ เป็นมะเร็งผิวหนัง และมีฤทธิ์ทำลายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตเจนที่ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง จึงทำให้แก่ก่อนวัย
บุหรี่กับไต: ผลของการสูบบุหรี่ต่อการเป็นโรคไตชนิดต่างๆ โดยเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งที่ไตชนิด renal cell carcinoma บุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและทำให้ความดันสูง ดังนั้น บุหรี่จะเร่งให้ภาวะไตเสื่อมจากเบาหวานเกิดเร็วขึ้น เร่งให้เกิดภาวะไตวายจากความดันโลหิตสูง แม้ในคนปกติก็พบว่าการสัมผัสควันบุหรี่บ่อยๆ จะทำให้ไตเสื่อมเร็ว
“บุหรี่” เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อระบบขับถ่ายและมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคระบบขับถ่ายบกพร่องมากขึ้น ที่สำคัญการสูบบุหรี่เป็นการทำลายสุขภาพทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดควันบุหรี่เข้าไป
25 เม.ย 2566
28 เม.ย 2566
11 เม.ย 2566