Last updated: 13 ส.ค. 2563 | 1848 จำนวนผู้เข้าชม |
ทีมงานสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) นางสาวจันธิกานต์ ปิยสถิตธรรม และนางสาวพรไพลิน คำแก้ว ร่วมด้วยพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพจากสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ภญ.ณัฏฐธิดา หาญสุรีย์ และ ภก.ปวิช พากฏิพัทธ์ เข้าเยี่ยมบริษัทแม็กซิม่า อิเลคทรอนิคส์ จำกัด จังหวัดขอนแก่น ในโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 14.00 -17.00 น. เพื่อติดตามการดำเนินงาน รับทราบปัญหาหรืออุปสรรค และให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการดำเนินการลด ละ เลิกบุหรี่ให้กับพนักงานของบริษัท
บริษัทแม็กซิม่า อิเลคทรอนิคส์ จำกัด มีการจัดตั้งคณะทำงานโครงการหลักของบริษัท ประกอบด้วย 6 โครงการย่อยที่ครอบคลุม 5 ประเด็นของสถานประกอบการสุขภาพดีมีสุข คือ บุหรี่ เหล้า อาหาร ออกกำลังกายและหนี้สิน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องกันจึงนำมาบูรณาการร่วมกันได้ โดยแต่ละโครงการย่อยจะมีหัวหน้าโครงการรับผิดชอบอยู่ การเข้าเยี่ยมครั้งนี้มีคณะทำงานให้การต้อนรับและนำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมา ดังนี้ นางสาวปิยะพร แสงสว่าง (ผู้จัดการโรงงาน ที่ปรึกษาโครงการ) นางสาวอัจฉราวดี ศรีธีระวิโรจน์ (ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและธุรการ ที่ปรึกษาโครงการ) นางสาวปาหนัน สถาพรรัตน์ (ประธานโครงการและหัวหน้าโครงการสุขภาพดี) นางสาวสุนิสา หมู่สูงเนิน (หัวหน้าโครงการไม่มียาเสพติด (โรงงานสีขาว)) นางพิสมัย อันธุ (หัวหน้าโครงการเงินออม) นางจิรฐา คะณานันท์ (หัวหน้าโครงการปลดหนี้) และนายศักดิ์สิทธิ์ ดอชนะ (หัวหน้าโครงการลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่)
นางสาวปิยะพร เล่าถึงภาพรวมของโครงการหลักและโครงการย่อย 6 โครงการคร่าวๆ ว่า “ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 103 คน นโยบายของบริษัท เวลารับผู้มาสมัครงานใหม่ ถ้าเป็นคนสูบบุหรี่จะมีการนำเข้าโครงการ (บังคับ) กิจกรรมหลักของบริษัทที่เป็นโครงการใหญ่ ลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่ ปลดหนี้และมีเงินออม ถ้าแบ่งตัวโครงการออกมาก็จะมีกิจกรรม ดังนี้ 1. เลิกเหล้า 2. เลิกบุหรี่ 3. สุขภาพ 4. หนี้สิน 5. การออม และ 6. โรงงานสีขาว ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน”
นางสาวปาหนัน เล่าถึงโครงการย่อย ดังนี้ “ในส่วนของกิจกรรมเลิกบุหรี่ เริ่มทำโครงการเมื่อเดือนมกราคม ปี 2562 มีจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ 7 คน ปัจจุบันยังมีคนที่สูบบุหรี่อยู่จำนวน 8 คน และมีคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว 2 คน
ภญ.ณัฏฐธิดา หาญสุรีย์ เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ทีมสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน ม.ขอนแก่น นำทีมโดย รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม เข้ามาช่วยทำกิจกรรมลด ละ เลิกลุหรี่ที่นี่ 7 ครั้งแล้ว และยังคงติดตามพนักงานที่ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้เป็นระยะ”
นางสาวอัจฉราวดี เล่าว่า “ผู้บริหารให้การสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน ทางบริษัทจึงมีการประชุมกับพนักงานทุกวันจันทร์ มีการพูดคุย และเปิดโอกาสพนักงานได้แสดงความคิดเห็น หรือเสริมกำลังใจให้เพื่อนพนักงานด้วยกันเอง”
จากนั้นหัวหน้าโครงการย่อยต่างๆ เล่าถึงกิจกรรมในแต่ละโครงการ สรุปได้ว่า โครงการเงินออม ปัจจุบันทางโครงการช่วยให้พนักงานมีเงินออมโดยมีการฝากกับทางบริษัท เช่นนำเงินค่าบุหรี่หรือเหล้ามาหยอดกระปุก เมื่อฝากแล้วจะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้นอกจากลาออกเท่านั้น โครงการหนี้สิน ช่วยให้พนักงานสามารถบริหารจัดการได้ โดยทำให้พนักงานรู้จักการวางแผนการใช้จ่าย ส่วนโครงการโรงงานสีขาว มีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจ โดยการสุ่มตรวจแบบไม่บอกล่วงหน้า นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีการกระจายรายได้เข้าไปในเรือนจำกลางขอนแก่น โดยนำงานบางส่วนไปให้นักโทษทำเพื่อเป็นรายได้ให้นักโทษ
จากนั้นคณะทำงานของบริษัทพาทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพและทีม ส.พ.ส. เดินดูบริเวณที่จัดกิจกรรมออกกำลังกายและเขตสูบบุหรี่ นางสาวจันธิกานต์ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ย้ายเขตสูบบุหรี่ที่มีจุดเดียวนั้นไม่ให้อยู่ตรงทางเข้า-ออกหลักของบริษัท 2. เพิ่มสื่อความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และเพิ่มสื่อบุคคลต้นแบบที่เลิกบุหรี่ได้แล้วไว้ที่เขตสูบบุหรี่ 3. หากิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจช่วงเวลาพัก เพื่อลดความสนใจสูบบุหรี่ลง 4. พัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลต้นแบบที่เลิกบุหรี่ได้แล้ว นอกนั้นทางคณะทำงานโครงการของบริษัทสามารถบริหารหรือจัดการโครงการแบบบูรณาการได้ดีมากอยู่แล้ว