Last updated: 16 มิ.ย. 2561 | 3774 จำนวนผู้เข้าชม |
พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายอีกอย่างหนึ่งของคนไทย คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่คนไทยเรียกว่า สุราหรือเหล้า การดื่มเหล้ามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ดื่มโดยตรง ซึ่งกระแสเลือดจะนำแอลกอฮอล์แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในสุราคือ แอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี ทำให้สามารถแพร่ไปได้ทุกส่วนของร่างกาย จึงมีผลกระทบต่อร่างกายทุกระบบ นอกจากนี้การดื่มเหล้ายังก่อให้เกิดพฤตกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบิเหตุในการเดินทางอีกด้วย และเมื่อดื่มเป็นระยะเวลานานๆจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ ตับ สมอง หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้
· เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว
· ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองช้า
· การตัดสินใจช้าลงและผิดพลาดง่ายขึ้น
· การควบคุมอารมณ์ผิดปกติ
ซึ่งใช้เวลา 1-6 ชั่วโมง ในการดูดซึมจนไปถึงระดับสูงสุดในเลือดหากรับประทานอาหารมาก่อนแล้ว และใช้เวลาเพียง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ในการดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือดหากดื่มขณะท้องว่าง
หากคุณมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 3 ข้อ นั่นคือการบ่งบอกว่า คุณ “ติดสุรา”
1 ดื่มมากกว่าที่ตั้งใจไว้
2 ไม่สามารถหยุดหรือเลิกการดื่มสุราบ่อยครั้ง
3 มีอาการทนต่อสุรามากขึ้น เช่น ต้องดื่มมากกว่าเดิมอย่างมากจึงจะรู้สึกเช่นเดิม
4 มีอาการถอนเหล้า เช่น มือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เมื่อลดการดื่มลง
5 ยังคงใช้สุราแม้รู้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางกาย หรือทางจิตใจ
6 เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการดื่ม การซื้อ การคิดถึงการดื่มสุรา การเมา หรือการฟื้นจากฤทธิ์สุรา
7 ใช้เวลาลดลงกับการกิจกรรมที่สำคัญเพราะมัวแต่ใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้า
เลิกเหล้า เลิกอย่างไร
สำหรับผู้ที่ดื่มสุราจนถึงขั้น “ติด” หรือ มีการดื่ม “ในทางที่ผิด” แล้วนั้น การรักษามีลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับผู้ที่ยังไม่ถึงขั้นติด แต่มีการใช้สุราแบบเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น แต่มีข้อพิจารณาเพิ่มเติม เช่น การให้ยาเพื่อจัดการกับอาการถอนยาที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่าช่วงล้างพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีอาการถอนสุราที่จะทำการเลิกหรือลดการดื่มอย่างทันทีทันใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกันการเกิดอาการถอนยา เช่น มือสั่น ชัก อาการประสานหลอน สับสน และเพื่อเป็นการตรวจเช็คร่างกายหรือโรคอื่นที่อาจเป็นผลจากการดื่มเป็นประจำ เช่น ความดันสูง หรือ โรคตับ นอกจากนี้อาจต้องได้รับยาอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การดื่มแอลกอฮอล์มีปริมาณลดลง โดยการสนับสนุนการปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาจะได้ผลดีที่สุด
ระยะของการรักษาที่จะประสบความสำเร็จแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเตรียมความพร้อม เตรียมความพร้อมทั้งภาวะสุขภาพกาย และจิตใจ สร้างแรงจูงใจให้แน่วแน่
2. ระยะถอนพิษสุรา การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการถอนสุรา ในขณะงดดื่ม ลดอาการลงแดง
3. ระยะป้องกันการดื่มซ้ำ อย่างน้อยจะต้องงดดื่ม 6-12 เดือน จึงเลิกได้เด็ดขาด
4. ระยะติดตามผล สร้างแรงจูงใจในการลดอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตใหม่ที่ปราศจากแอลกอฮอล์
ครอบครัว มีส่วนอย่างมากในการให้ช่วยเหลือ อดทน และกำลังใจผู้ป่วย ในทุกระยะ
มีเทคนิคดีๆ ในการลดปริมาณการดื่มไหม ถ้ายังเลิกขาดไม่ได้?
1. ตั้งจุดมุ่งหมายถึงปริมาณและจำนวนวันที่ตั้งใจจะดื่มแอลกอฮอล์
2. ตั้งจังหวะการดื่มในแต่ละครั้ง เช่นจิบอย่างช้าๆ ดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อชั่วโมง หรือสลับเปลี่ยนด้วยเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม หรือ น้ำผลไม้
3. รับประทานอาหารร่วมด้วยขณะดื่ม จะทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมได้ช้าลง
4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเช่น ถ้าเห็นคนบางคน หรือ สถานที่บางอย่าง แล้วทำให้รู้สึกอยากดื่ม ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นๆ ถ้ากิจกรรมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะวางแผนว่าจะทำอะไรแทนกิจกรรมนั้น แต่ถ้าการอยู่ที่บ้านเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะไม่มีแอลกอฮอล์เก็บไว้ในบ้าน
5. วางแผนที่จะจัดการกับความรู้สึกอยากดื่มเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น เตือนตนเองถึงเหตุผลที่ต้องการเลิก พูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจ หรือหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่กระตุ้นให้ดื่ม หรือบางทีก็ปล่อยให้ความรู้สึกอยากดื่มนี้มีต่อไป โดยยอมรับถึงความรู้สึกนี้ และรู้ว่าอีกไม่นานมันก็จะหายไป
6. รู้จักที่จะปฏิเสธ เนื่องจากจะมีบ่อยครั้งที่คนอื่นจะชักชวนให้ดื่ม โดยทำอย่างสุภาพ และจริงจัง ยิ่งปฏิเสธได้เร็วเท่าใด ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยที่จะกลับไปดื่มอีก ดังนั้นไม่ควรลังเลที่จะปฏิเสธอย่างทันทีทันใด เมื่อมีผู้ชักชวนให้ดื่ม
7. การมีกลุ่มที่ช่วยเหลือสนับสนุนกันในการเลิกการดื่ม จะสามารถช่วยให้มีกำลังใจ ได้เห็นตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่ม และให้ประสบการณ์หรือวิธีการของแต่ละคนในการเลิกการดื่มได้ด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้วการเลิกดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์นั้นต้องมีความตั้งใจ และหาแรงจูงใจในการเลิกดื่ม เช่น เลิกดื่มเพราะสุขภาพ เป็นต้น จากนั้นเมื่อตั้งใจจะเลิกแล้วอย่างแน่นอนแล้ว ควรมีการค้นหาว่าตนเองมีลักษณะการดื่มเป็นเช่นไร อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ดื่ม จากนั้นพิจารณาว่าตนเองดื่มสุราอยู่ในระดับใด หากเข้าเกณฑ์ของการเป็นผู้ติดสุรา ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยในการเลิกการดื่มพร้อมกับทำพฤติกรรมบำบัดหรือจิตบำบัดร่วมด้วย
28 มี.ค. 2560
28 มี.ค. 2560